ประวัติวิทยาลัยชุมชนน่าน

วิทยาลัยชุมชนน่าน สถาบันวิทยาลัยชุมชน กระทรวงศึกษาธิการ

ประวัติการก่อตั้งวิทยาลัยชุมชนน่าน

          วิทยาลัยชุมชนน่าน สังกัดสถาบันวิทยาลัยชุมชน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นวิทยาลัยชุมชนแห่งที่ 20 ของประเทศไทย เริ่มต้นจากเมื่อคราวที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้ตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดน่าน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช 2552 ทรงให้ข้อแนะนำว่า จังหวัดน่านมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเพื่อรองรับความต้องการ ด้านการศึกษาเรียนรู้ของคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมีนาคม ปีพุทธศักราช 2554 จังหวัดน่านได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคเอกชน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาลัยชุมชนร่วมกัน จนมีมติในที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนน่านแห่งนี้ขึ้นมา เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554 ตามนโยบายการกระจายการศึกษาสู่ท้องถิ่นในจังหวัดที่ไม่มีสถาบันอุดมศึกษา โดยยึดหลัก “การศึกษาสร้างชาติ สร้างคน สร้างงาน” และมุ่งเน้นการจัดการศึกษาที่หลากหลาย สนองตอบต่อความต้องการของท้องถิ่น พร้อมมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม วิทยาลัยชุมชนเป็นสถานศึกษาของรัฐ ที่จัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษา ในระดับต่ำกว่าปริญญา มีวัตถุประสงค์เพื่อบริการการศึกษาให้เข้าถึงประชาชน ดำเนินการกระจายแหล่งเรียนรู้ไปสู่ชุมชน เพื่อให้บริการการศึกษาเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง ให้ความรู้ ความสามารถ ฝึกอบรมด้านวิชาการและวิชาชีพ ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และมีการส่งเสริมให้พัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของบุคคลในชุมชนอย่างยั่งยืน และเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน เพื่อเปิด “อาคารสิริเบญญา” และ “หออัตลักษณ์นครน่าน” โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานชื่ออาคาร มีความหมายว่า อาคารที่เป็นแหล่งความรู้อันประเสริฐ และพระราชทานพระราชาอนุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “สธ” ประดับที่ป้ายชื่ออาคาร นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และขวัญกำลังใจต่อผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรวิทยาลัยชุมชนน่านเป็นอย่างยิ่ง

วิทยาลัยชุมชน : สถาบันการศึกษาของประชาชน

นโยบายการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน

          วิทยาลัยชุมชนก่อกำเนิดมาจากรากฐานของการปฏิรูปการศึกษา จากนโยบายของรัฐบาล ข้อ 11.1 ด้านการศึกษา รัฐบาลจะปฏิรูปการศึกษาตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ . ศ . 2542 เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความรู้ อันเป็นเงื่อนไขไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ให้คนไทยทั้งปวงได้รับโอกาสเท่าเทียมกันที่จะเรียนรู้และฝึกอบรมได้ตลอดชีวิต จัดให้มีวิทยาลัยชุมชนโดยเฉพาะในจังหวัดที่ยังขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษา “
          เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลจึงได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 ด้านการศึกษา 12 ข้อ โดย ” ข้อ 4 จัดให้มีวิทยาลัยชุมชนโดยเฉพาะในจังหวัดที่ยังขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษา “
          คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 ใน 4 ข้อคือ
( 1) เห็นชอบโครงการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน
( 2) ให้มีกฎหมายรองรับการดำเนินงาน
( 3) ให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ดำเนินงาน และใช้สถานศึกษาที่มีอยู่เดิม และมีศักยภาพเพียงพอยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยชุมชน
( 4) ให้จัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนั้น ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณ คณะทำงานทุกท่านที่ช่วยจัดทำโครงการวิทยาลัยชุมชน ซึ่งเป็นการดำเนินงานเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชายแดน เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางนานมากกว่าจะได้ไปเรียน

จุดเริ่มต้นของวิทยาลัยชุมชน

          จากนโยบายรัฐบาลดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้เร่งดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างรวดเร็ว โดยการนำของ ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนั้น ได้นำคณะไปศึกษาดูงานประเทศสหรัฐอเมริกา และวางแนวทางการดำเนินงานโครงการไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ หลักการและแนวทางการดำเนินงาน ตั้งแต่คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินงาน และคณะที่ปรึกษาโครงการประกาศจัดตั้งสำนักงานโครงการวิทยาลัยชุมชนเป็นหน่วยงานภายในเทียบเท่ากอง และยืมตัวข้าราชการจากหน่วยงานต่าง ๆ มาปฏิบัติงาน วิทยาลัยชุมชนได้ก่อกำเนิดมาจากความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ที่แน่วแน่ของคณะบุคคลที่เป็นผู้ก่อตั้ง และดูแลเอาใจใส่มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันที่สมควรกล่าวในที่นี้ คือ ศาสตราจารย์คุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ดร . สิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร . ถนอม อินทรกำเนิด ที่ปรึกษาสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน ดร . ชุมพล พรประภา ที่ปรึกษาสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน นอกจากนี้ยังมีบุคคลอีกมากมายทุกระดับที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมก่อตั้งและดำเนินงานวิทยาลัยชุมชน

ความหมายและหลักการ

          ความหมาย : วิทยาลัยชุมชุนเป็นสถานศึกษาของรัฐซึ่งบริหารจัดการโดยชุมชน ที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาทั้งสายวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งจัดการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิตที่สามารถเชื่อมโยงกับการศึกษาทุกระดับ และเติมเต็มส่วนการศึกษาที่ขาดไปของประชาชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตลอดจนฝึกอบรมในหลักสูตรเพื่อพัฒนาอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตตามความต้องการของชุมชนและสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หลักการ :
1). กระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน โดยเป้าหมายสูงสุด คือ ให้ประชาชนเป็นเจ้าของการศึกษา
2). เข้าถึงประชาชนทุกคน และเป็นพลังขับเคลื่อนให้บุคคลพัฒนาศักยภาพตนเองจนถึงที่สุด
3). มีหลักสูตรหลากหลายประเภท ตามความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน
4). เสียค่าใช้จ่ายต่ำ
5). ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
6). จัดระบบเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม

เป้าหมายของการดำเนินงาน

– การบริหารจัดการโดยชุมชน
– จัดระบบบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักการ ปรัชญาวิทยาลัยชุมชนที่มุ่งให้ชุมชนเป็นเจ้าของการศึกษา โดยจัดระบบให้ชุมชนเข้ามาบริหารจัดการศึกษาตามความต้องการของตนเองเพื่อให้วิทยาลัยชุมชนเป็นกลไกสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
การจัดหลักสูตรและการเรียนการสอน ให้เกิดจากความต้องการที่แท้จริงของชุมชน โดยศึกษาความต้องการและปัญหาของชุมชนตลอดเวลาก่อนจัดทำหลักสูตร และส่งเสริมให้วิทยาลัยชุมชนพัฒนาหลักสูตรเอง
– การจัดบริการการศึกษาเข้าถึงประชาชน ดำเนินการกระจายแหล่งเรียนรู้ไปสู่ชุมชน เพื่อให้บริการการศึกษาเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง โดยจัดระบบโครงสร้างการศึกษาเป็นระบบเครือข่ายโดยมีวิทยาลัยชุมชนเป็นแม่ข่าย และมีหน่วยจัดการศึกษาที่หลากหลายกระจายอยู่ทั่วชุมชนเป็นเครือข่าย

การรับนักศึกษา

1). รับนักศึกษาแบบเปิดกว้าง หลากหลายวิธี ทุกวัน ตลอดทั้งปี
2). เน้นกลุ่มเป้าหมายผู้ขาดโอกาส ผู้ด้อยโอกาส และผู้พลาดโอกาสทางการศึกษาในอันดับต้น ๆ
3). รับทุกเพศ ทุกวัย
4). รับทุกคนที่มาสมัครเข้าเรียน โดยผู้สมัครก่อนได้รับสิทธิ์ให้เรียนก่อน ผู้มาทีหลังขึ้นบัญชีไว้เพื่อเข้าเรียนในโอกาสถัดไป
5). การสอบหรือสัมภาษณ์ เป็นไปเพื่อศึกษาฐาน ความรู้ ความสามารถ ทักษะ ความถนัดและความพร้อมของผู้เรียนเป็นหลัก เพื่อแนะแนวการศึกษา อาชีพ และการเข้าสู่หลักสูตรปรับพื้นฐานที่วิทยาลัยต้องจัดเตรียม โดยไม่นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้เรียน

การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน

          จัดระบบความเชื่อมโยงการศึกษาระหว่างวิทยาลัยชุมชน กับสถาบันอุดมศึกษา การสรรหาบุคคลเพื่อการบริหารและจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ตลอดจนการศึกษาวิจัยความต้องการของชุมชน การส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาหลักสูตรตามความต้องการ และการจัดการศึกษาที่ตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน ระบบการดำเนินงาน การบริหารจัดการ แบ่งโครงสร้าง ดังนี้
ส่วนกลาง
1). คณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน เป็นกรรมการระดับชาติ ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายบริหารและผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขาอาชีพ มีหน้าที่กำหนดนโยบาย มาตรฐาน สนับสนุน และกำกับติดตาม
2). สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน
ส่วนภูมิภาค
1). สภาวิทยาลัยชุมชนจังหวัด เป็นกรรมการบริหารในระดับชุมชน ( ในระยะแรกเป็นชุมชนระดับจังหวัด ) ซึ่งเลือกจากผู้แทนประชาชนแต่ละสาขาอาชีพ มีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่ากึ่งหนึ่งและส่วนใหญ่เป็นภาคนอกราชการ มีหน้าที่กำหนดแผน งบประมาณ หลักสูตร อนุมัติ อนุปริญญาบัตร สนับสนุนและกำกับติดตามผล
2). สภาวิชาการเป็นกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการ และการจัดการเรียนการสอนให้แก่วิทยาลัย
3). สถานที่จัดการศึกษา จัดเป็นระบบเครือข่ายเพื่อให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
     3.1 วิทยาลัยชุมชน เป็นหน่วยประสานงานกลาง เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนบางส่วนและเป็นศูนย์วิทยบริการ และระบบสารสนเทศแม่ข่าย
     3.2 หน่วยจัดการศึกษา ที่เป็นเครือข่ายจัดการเรียนการสอน ได้แก่ สถานศึกษา / หน่วยงาน / สถานประกอบการ / ชุมชน ทั้งในจังหวัด อำเภอ และตำบล

หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน

          หลักการจัดหลักสูตร ให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัญหาและความต้องการในการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกด้าน โดยชุมชนกำหนดความต้องการ ( Need Study) โดยวิธีการที่หลากหลายแล้วมาพัฒนาเป็นหลักสูตรโดยวิทยาลัยชุมชน ซึ่งหลักสูตรจะหลากหลายและปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

ประเภทของหลักสูตร

1). หลักสูตรอนุปริญญา เพื่อการประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อระดับปริญญา
2). หลักสูตรประกาศนียบัตร เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและสามารถศึกษาต่อระดับสูงได้
3). หลักสูตรระยะสั้น / การศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ
4). หลักสูตรปรับพื้นฐาน เพื่อปรับพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ให้มีความพร้อมในการศึกษาในหลักสูตรต่างๆ ของวิทยาลัยชุมชน
ผู้สอน ใช้บุคลากรประจำน้อยแต่ใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ในจังหวัดหรือจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีความรู้และประสบการณ์ในสาขาวิชาที่สอน ทั้งที่เป็นข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอื่น รวมทั้งเอกชนและภูมิปัญญาต่าง ๆ โดยจ่ายเป็นค่าตอบแทน การสอนเป็นรายชั่วโมง
          ครุภัณฑ์และวัสดุการศึกษา ใช้การบริหารจัดการจากสถานศึกษาที่มีอยู่ จัดหาเพิ่มเติมบางส่วนและได้รับจากชุมชนบางส่วน
          ผู้เรียน มุ่งเน้นผู้ที่ขาดโอกาสและพลาดโอกาสจากการศึกษาในระบบปกติ ทั้งที่สำเร็จการศึกษาใหม่ และสำเร็จการศึกษามานานแล้ว และผู้ที่ต้องการเติมเต็มความรู้หรือประสบการณ์
          เวลาเรียน เรียนได้ทุกเวลา และยืดหยุ่น เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนหรือวิทยาลัย
          วิธีการเข้าเรียน คนทุกคนทุกกลุ่มอายุในชุมชนที่ประสงค์จะเรียนต้องได้เรียนทุกหลักสูตรโดยไม่มีการสอบเข้า แต่ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานที่แต่ละหลักสูตรกำหนด และมีการสอนปรับพื้นฐานความรู้ก่อนเรียน และระหว่างเรียน

การพัฒนาของการดำเนินงาน

          การดำเนินงานวิทยาลัยชุมชน มีการพัฒนามาอย่างเป็นขั้นตอนจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
หลักการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน
          ยึดหลักการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเกิดจากความต้องการของประชาชน การจัดตั้งจึงให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้ง การกำหนดนโยบาย และการบริหารจัดการทุกขั้นตอน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และในระยะแรกไม่มีการก่อสร้างสถานศึกษาใหม่
ขั้นตอนการดำเนินงาน
          การดำเนินงานวิทยาลัยชุมชนตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันมีพัฒนาการแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 : การเตรียมการและประกาศจัดตั้ง ( เดือนมีนาคม 2544 – เมษายน 2545)
การเตรียมการระดับชาติ
1). ตั้งคณะกรรมการโครงการวิทยาลัยชุมชน ประกอบด้วย คณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินงานและคณะอนุกรรมการเฉพาะด้าน 6 ชุด เพื่อกำหนดกรอบนโยบาย และแนวทางการดำเนินงาน
2). จัดตั้งสำนักงานโครงการวิทยาลัยชุมชนให้เป็นหน่วยงานภายในเทียบเท่ากอง สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เป็นสำนักประสานงาน หน่วยดำเนินงาน และสำนักเลขานุการคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน
3). ดำเนินงานเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับวางระบบบริหารจัดการ พัฒนาหลักสูตรพัฒนาบุคลากร ประสานทรัพยากรความร่วมมือสถาบัน หน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน ติดตามการดำเนินงานและรายงานผลทุกระยะและวางระบบข้อมูลสารสนเทศ และการประชาสัมพันธ์
การเตรียมระดับจังหวัด
          สร้างความเข้าใจกับชุมชน จัดให้มีคณะกรรมการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนจังหวัด ทำหน้าที่แทนชุมชน เลือกสถานศึกษาในจังหวัดที่มีศักยภาพเพื่อเป็นวิทยาลัยชุมชน ( แม่ข่าย ) พร้อมทั้ง สรรหาคณะทำงานดำเนินงานวิทยาลัยชุมชนจังหวัด ทำหน้าที่แทนชุมชน เป็นคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินงานให้เกิดการเรียนการสอน และปฏิบัติภารกิจในระยะแรกไปพลางก่อนจนกว่าจะมีคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชนชุดใหม่มาทำหน้าที่
ประกาศจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน
          เมื่อเตรียมให้ชุมชนมีความพร้อมแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนทั้งแม่ข่ายและวิทยาลัยชุมชนเครือข่ายขึ้นใน 10 จังหวัดเป้าหมาย โดยให้สถานศึกษาที่ชุมชนได้เลือกขึ้นมาซึ่งอยู่ในสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน 7 แห่ง และสังกัดกรมอาชีวศึกษา 3 แห่ง เป็น วิทยาลัยชุมชนแม่ข่าย และมีสถานศึกษา สถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนเป็น วิทยาลัยชุมชนเครือข่าย โดยให้สถานศึกษาดังกล่าว ทำภารกิจวิทยาลัยชุมชนควบคู่ไปกับภารกิจเดิม และกระทรวงศึกษาธิการจัดสรรงบประมาณและพัฒนาบุคลากร เพื่อดำเนินงานวิทยาลัยชุมชน ดังนี้
– ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นวิทยาลัยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีวิทยาลัยชุมชนเครือข่าย จำนวน 2 แห่ง
– วิทยาลัยการอาชีพโพทะเล จังหวัดพิจิตร เป็นวิทยาลัยชุมชนจังหวัดพิจิตร มีวิทยาลัยชุมชนเครือข่าย จำนวน 4 แห่ง
– ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตาก เป็นวิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก มีวิทยาลัยชุมชนเครือข่าย จำนวน 4 แห่ง
– ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นวิทยาลัยชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ มีวิทยาลัยชุมชนเครือข่าย จำนวน 4 แห่ง
– ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดมุกดาหาร เป็นวิทยาลัยชุมชนจังหวัดมุกดาหาร มีวิทยาลัยชุมชนเครือข่าย จำนวน 28 แห่ง
– วิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู เป็นวิทยาลัยชุมชนจังหวัดหนองบัวลำภู มีวิทยาลัยชุมชนเครือข่าย จำนวน 6 แห่ง
– ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้ว เป็นวิทยาลัยชุมชนจังหวัดสระแก้ว มีวิทยาลัยชุมชนเครือข่าย จำนวน 5 แห่ง
– วิทยาลัยการอาชีพบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นวิทยาลัยชุมชนจังหวัดอุทัยธานี มีวิทยาลัยชุมชนเครือข่าย จำนวน 4 แห่ง
– ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดระนอง เป็นวิทยาลัยชุมชนจังหวัดระนอง มีวิทยาลัยชุมชนเครือข่าย จำนวน 3 แห่ง
– ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนราธิวาส เป็นวิทยาลัยชุมชนจังหวัดนราธิวาส มีวิทยาลัยชุมชนเครือข่าย จำนวน 11 แห่ง

ระยะที่ 2 : คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที 19 กุมภาพันธ์ 2545 เห็นชอบประกาศจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน กระทรวงศึกษาธิการจึงกำหนดอำนาจหน้าที่ และการแบ่งส่วนราชการของวิทยาลัยชุมชน ( เดือน เมษายน 2545 – กรกฎาคม 2546)
กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศกระทรวงฯ ลงวันที่ 17 เมษายน 2545 ประกาศกำหนดอำนาจหน้าที่และการแบ่งส่วนงานของวิทยาลัยชุมชน ซึ่งเกี่ยวกับการกำหนดโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน บุคลากร และองค์คณะบุคคลทั้งระดับส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อให้เกิดการบริหารและดำเนินงานวิทยาลัยชุมชนตามบทบาทภารกิจไปสู่เป้าหมายและปรัชญาวิทยาลัยชุมชนต่อไป สาระสำคัญของประกาศดังกล่าวสรุปได้ดังนี้
ส่วนกลาง
1). ให้มีคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนมาบริหารงานโครงการวิทยาลัยชุมชนกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบาย ทิศทาง การบริหารจัดการ แผนงาน และแนวทางการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชน
2). ให้มีสำนักงานส่งเสริมวิทยาลัยชุมชน ( ปรับชื่อมาจากสำนักงานโครงการวิทยาลัยชุมชน ) เป็นสำนักงานในส่วนกลาง ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชน และเป็นสำนักงานกลางดำเนินงานวิทยาลัยชุมชน
3). ให้มีผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิทยาลัยชุมชน เป็นผู้บังคับบัญชา และรับผิดชอบงานของสำนักงานส่งเสริมวิทยาลัยชุมชน
ส่วนภูมิภาค
          ให้จัดระบบวิทยาลัยชุมชนจังหวัด ( ประกอบด้วยวิทยาลัยชุมชนแม่ข่ายและเครือข่าย ) บริหารจัดการระบบวิทยาลัยชุมชน โดย คณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน ( จังหวัด ) เพื่อทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายแผนการจัดการศึกษา และแนวทางการจัดการศึกษาในระบบวิทยาลัยชุมชน
1). ให้มีสำนักงานวิทยาลัยชุมชน ( จังหวัด ) เป็นสำนักงานในส่วนภูมิภาคทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน และดำเนินงานจัดการศึกษาในวิทยาลัยชุมชนทั้งระบบ
2). ให้มีอธิการวิทยาลัยชุมชนเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานทั้งปวงของวิทยาลัยชุมชนและได้มาโดยการสรรหา และมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี
3). ให้มีผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาลัยชุมชน ( จังหวัด ) เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานวิทยาลัยชุมชนรองจากอธิการวิทยาลัยชุมชน มีหน้าที่อำนวยการจัดการศึกษา จัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามแผนการศึกษาและตามมติการประชุมคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชนซึ่งได้มาจากความต้องการของชุมชน
4). ให้มีผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนเครือข่ายเป็นผู้บังคับบัญชาในการบริหารจัดการศึกษาภายในวิทยาลัยชุมชนเครือข่ายและสนับสนุนการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชน
5). วางระบบบริหารการจัดการศึกษาเป็นระบบเครือข่าย มีองค์ประกอบ ดังนี้
          มีคณะกรรมการบริหารโปรแกรมวิชา เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการเรียนการสอน โดยประสานการจัดการศึกษาทั้งโปรแกรมวิชา หรือบางรายวิชา หรือหลักสูตรระยะสั้นในวิทยาลัยชุมชนแม่ข่ายและเครือข่าย
          มีประธานโปรแกรมวิชา ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการให้เกิดการเรียนการสอนในโปรแกรมวิชาที่รับผิดชอบ และเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารโปรแกรมวิชา
          มีผู้ประสานงานการสอนรายวิชา ทำหน้าที่รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนเป็นรายวิชาตามที่ประธานโปรแกรมวิชามอบหมาย
          ระยะที่ 3 : มีกฎหมายรองรับการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชนตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 และข้อ 2 และข้อ 3(4) แห่งกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พ.ศ.2546 ( กรกฎาคม 2546 เป็นต้นมา )

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546

          มาตรา 22 ในกรณีที่เขตพื้นที่การศึกษาตามมาตรา 33 ไม่อาจบริหารและจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานบางประเภทได้ และในกรณีการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาบางประเภท สำนักงานปลัดกระทรวงหรือสำนักงานต่าง ๆ ตามที่กำหนดในส่วนที่ 3 อาจจัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาเพื่อเสริมการบริหารและจัดการของเขตพื้นที่การศึกษาดังต่อไปนี้ก็ได้
การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสาร และการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ
          การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดในรูปแบบการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัย
          การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ
          การจัดการศึกษาทางไกล และการจัดการศึกษาที่ให้บริการในหลายเขตพื้นที่การศึกษา
          การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาในรูปแบบวิทยาลัยชุมชนและรูปแบบอื่น
          สำหรับสถานศึกษาของรัฐระดับอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา ซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมิได้มีกฎหมายอื่นกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงานไว้โดยเฉพาะ ให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ
          การจัดตั้ง การบริหารงาน สังกัด และการจัดประเภทของสถานศึกษาของรัฐระดับอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา ตลอดจนหลักเกณฑ์อื่นในการบริหารงานและการดำเนินการทางวิชาการให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พ.ศ.2546

          ข้อ 2 ให้แบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ดังต่อไปนี้
– สำนักอำนวยการ
– สำนักทดสอบกลาง
– สำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา
– สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน
– สำนักประสานและส่งเสริมกิจการอุดมศึกษา
– สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา
– สำนักยุทธศาสตร์อุดมศึกษาต่างประเทศ
– สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา
– สำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร

ข้อ 3 (4) สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
– จัดทำข้อเสนอนโยบาย และจัดทำแผนหลักของระบบวิทยาลัยชุมชนเสนอแนะการจัดตั้ง และจัดสรรงบประมาณให้วิทยาลัยชุมชน
– จัดทำระบบข้อมูล สารสนเทศ กำกับ ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชน
– จัดทำมาตรฐานการจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชน
– พัฒนาและส่งเสริมการจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนและระบบเครือข่ายความร่วมมือการจัดการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
– ดำเนินการเกี่ยวกับงานเลขานุการของคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน
– ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

          ในขณะนี้ได้จัดทำร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญา รูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ….. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเรียบร้อยแล้ว รอการประกาศใช้
เรียบเรียงโดย นาย ภัทรภูมิ สาระคุณ